การค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ ของ พระเทพมงคลวชิรมุนี (หา สุภโร)

ในขณะที่ท่านกำลังดำเนินการก่อสร้างวัดสั่งสอนผู้คนพุทธศาสนิกชน สอนปริยัติธรรมแก่พระภิกษุ-สามเณรบริหารการปกครองคณะสงฆ์อยู่นั้นท่านก็ไม่ทิ้งการปฏิบัติในทางการอบรมจิตทำสมาธิภาวนา เมื่อมีเวลาว่างท่านจะขึ้นบนยอดภูกุ้มข้าวกางกลดนั่งสมาธิครั้งละ ๑๕ วัน โดยไม่ฉันอาหารไม่เข้าห้องน้ำ อบรมจิตใจตนเองอย่างนี้โดยวิธีนี้เรียกว่าการเข้า “ปฏิสลี” มีเพียงบางวันที่สามเณรจะเอายาต้มไปส่งแต่ถ้าเห็นหลวงปู่ไม่เปิดกลดก็จะกลับลงมาโดยไม่ได้ถวายยาต้มนั้นในบางปีท่านฉันภัตตาหารเพียงวันเข้าพรรษาและวันออกพรรษาเท่านั้น ประมาณปี ๒๕๓๔ ท่านได้พบนิมิตโอภาส คือพบแสงสว่างที่ใสมากเป็นแสงที่ท่านไม่เคยพบในโลกนี้สว่างไปทั่วโลกธาตุ สว่างทั้งจักรวาล มองทะลุภูเขา มองทะลุต้นไม้มองเห็นทุกอย่างอยากเห็นสิ่งใดก็เห็นไปหมด แล้วก็ปรากฏสัตว์ชนิดหนึ่ง คอยาว ตัวใหญ่กว่าช้างเท้าใหญ่เท่ากระบุง เดินไปเดินมาในบริเวณภูกุ้มข้าว กินยอดไม้ เล่นน้ำ และล้มลงตายขณะที่เห็นมีลักษณะเป็นเหมือนฟีมล์หนังกลางแปลงในสมัยก่อนพอสัตว์นั้นตายลงก็หมดม้วนพอดี เป็นอย่างนี้อยู่ ๒-๓ ครั้ง ในปี ๒๕๓๖ และปี๒๕๓๗ก็มีลักษณะเดียวกัน ครั้งสุดท้าย พอเห็นจบแล้วก็มีเสียงมาบอกว่า จะมาขออยู่ด้วยเตรียมตัวไว้พรุ่งนี้จะมีฝนมาจากทิศอุดรห่าใหญ่ผมจะมากับฝน ครั้งล่าสุดท่านเข้าปฏิสลีได้เพียง ๓ วันเท่านั้น ท่านจึงเก็บบาตรและกลดลงจากยอดเขาสั่งให้พระเณรเก็บสิ่งของไปไว้บนกุฏิเวลาประมาณเที่ยงวันฝนก็เริ่มตั้งเคาและตกลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตาหลวงปู่ท่านได้กางร่มเดินออกมาตรวจบริเวณวัดขณะฝนตก ร่มที่กางโดนลมพัดจนหักและปลิวไปกับลมเหลือเพียงด้ามร่มเท่านั้น บริเวณทั้งหมดมืดไปหมดมองสิ่งใดไม่เห็นท่านจึงนั่งลงตรงที่เห็นสัตว์นั้นตายในนิมิต ฝนตกกว่า ๓ ชั่วโมงจึงเริ่มซาและหายไปในที่สุด จากฟ้าที่มืดก็ปรากฏแสงสว่างขึ้นมาแผ่นดินที่เคยสูงโดนน้ำเซาะจนเห็นเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ หลายสิบชิ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณที่ท่านนั่ง ท่านก็สั่งให้คนเก็บกระดูกนั้นไว้และส่งข่าวไปยังนายอำเภอเพื่อมาตรวจสอบ ทางอำเภอจึงส่งข่าวไปยังศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เจ้าหน้าที่ก็ได้มาตรวจสอบปรากฏว่าเป็นไดโนเสาร์พันธ์กินพืชที่ใหญ่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมา (ภายหลังให้ชื่อว่า อีสานโนซอรัสสิรินธรเน่) ต่อมามีการแจ้งว่าจะมีการจะขอทำการขุดค้นเพิ่มเติมจึงกราบเรียนถามองค์หลวงปู่เพื่อชี้จุดที่เห็นในนิมิตเพิ่มเติมท่านจึงได้ชี้ใต้ต้นไม้ทางทิศเหนือของวัดก็พบฟอสซิลไดโนเสาร์อีกหลายตัว(ปัจจุบันคือ “อาคารหลุมขุดค้นไดโนเสาร์พระญาณวิสาลเถร” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ค้นพบครั้งแรก)อีกทั้งยังมีการรวบรวมฟอสซิลไดโนเสาร์จากทั่วสาระทิศมารวมที่วัดสักกะวันและก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับสัตว์โลกล้านปีได้รับพระราชทานนามว่า“พิพิธภัณฑ์สิรินธร” คณะศิษย์ยานุศิษย์ ลูกหลาน จึงถวายฉายานามหลวงปู่ว่า“หลวงปู่ไดโนเสาร์” (แต่เดิมท่านชื่อพระหา ภายหลังได้รับถวายตำแหน่งพระฐานานุกรมในตำแหน่งพระสมุห์ชาวบ้านจึงให้ชื่อว่าพระอาจารย์สมุห์หาภายหลังเมื่อมีการถวายสัญญาบัตรพัดยศเป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูวิจิตรสหัสคุณชาวบ้านก็เรียกหลวงตาวิจิตร เมื่อท่านค้นพบไดโนเสาร์ชาวบ้านจึงนิยมเรียกท่านว่าหลวงตาวัดไดโนเสาร์ เมื่อเรียกบ่อยๆจึงเหลือแต่หลวงตากับไดโนเสาร์ แต่คณะศิษย์ในภายหลังไม่อาจเรียกท่านว่าหลวงตาได้(เพราะคำว่าหลวงตาคือคนที่มีครอบครัวแล้วมาอุปสมบท)จึงเรียกท่านว่าหลวงปู่ไดโนเสาร์จวบจนปัจจุบัน)